วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ “ป้ายโฆษณา”

    
       ป้ายโฆษณา เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่ง โดยสื่อสิ่งพิมพ์นั้น คือ สื่อที่ใช้การพิมพ์เป็นหลักเพื่อติดต่อสื่อสาร ทำความเข้าใจกันด้วยภาษาเขียน โดยใช้วัสดุ กระดาษ หรือวัสดุอื่นใด ที่พิมพ์ได้หลายสำเนา เช่น ผ้า แผ่นพลาสติก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท โดยจุดประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักสินค้าหรือบริการนั้นๆ ซึ่งในอดีตการโฆษณาจะมีลักษณะของการร้องป่าวประกาศเชิญชวน จนในปัจจุบันการโฆษณาก็ได้แพร่หลายทำได้ตามสื่อต่างๆหลากหลายรูปแบบ

ตูน บอดี้สแลม ร่วมออกแบบคอลเลคชั่น CPS CHAPS 'No Pain No Gain'

     ในปัจจุบันแม้ว่าสื่อออนไลน์จะมีบทบาทกับสื่อโฆษณามากขึ้น แต่ตามใจกลางเมืองใหญ่ๆ ผู้คนส่วนมากก็ยังออกนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูภาพยนตร์ ไปช้อปปิ้ง หรือรับประทานอาหารตามห้างร้านต่างๆ ทำให้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ยังเป็นสื่อที่มีความสำคัญ เพราะเป็นที่สังเกตได้ง่ายสำหรับผู้ที่สัญจรไปมา โดยเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ให้ผลดีในการเผยแพร่ข่าวสาร ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของธุรกิจนั้นๆ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท ยกตัวอย่างเช่นบริษัทต้องการให้ภาพลักษณ์แบรนด์ของบริษัทมีลักษณะเท่ห์ หรู ดูดี บริษัทก็ไปจ้างดารา นักแสดง ที่มีบุคลิกดังกล่าวมาไว้ในแผ่นป้ายโฆษณา เพียงเท่านี้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาจดจำเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ดังกล่าวได้ โดยธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดย่อม ก็จะมีลักษณะของป้ายโฆษณาที่แตกต่างกันออกไป เพราะป้ายโฆษณาเหล่านี้มีการลงทุนสูง ทั้งค่าออกแบบ ค่าเช่า และค่าติดตั้ง ก็จะมีทั้งป้ายคัทเอาท์ บิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายผ้าใบ เป็นต้น สถานที่ติดตั้งก็จะแตกต่างกันออกไป อาจจะเป็นในพื้นที่ของบริษัท บนหลังคา ด้านข้างตึก ในห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า ตามทางด่วนหรือถนนสายหลัก ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล หรือใกล้ โดยจะมีการออกแบบให้โดดเด่น และสะดุดตา แก่ผู้คนทั่วไปที่ผ่านไปมา ซึ่งนอกจากป้ายโฆษณาจะมีผลดีกับธุรกิจต่างๆแล้ว ก็ยังมีป้ายโฆษณาประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายรณรงค์ ลดโลกร้อน ป้ายงดเหล้าเข้าพรรษา ป้ายรณรงค์ยาเสพติด หรือป้ายสนับสนุนการท่องเที่ยว อย่างไทยเที่ยวไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการกระตุ้นให้คนไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่สังเกตเห็นบ่อยๆก็จะเป็นตามทางด่วน หรือถนนสายหลัก มีการออกแบบโดยเอาสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กิจกรรมที่น่าสนใจ หรือวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมต่างๆ ในแต่ละจังหวัดมานำเสนอ โดยมีการออกแบบให้ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกแล้วยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน จะเห็นได้ว่าป้ายโฆษณาแต่ละประเภทก็จะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป อาจจะเป็นเชิงธุรกิจ เชิงโฆษณา หรืออาจจะเป็นป้ายโฆษณาที่ให้แง่คิดสร้างสรรค์สังคม อย่างเช่น ป้ายโฆษณาของบริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้เขียนไว้ในมติชนออนไลน์ว่า

สัญญาณไฟ "เหลือง แดง" ที่ใครก็ไม่อยากเจอเวลาที่ต้องอยู่บนถนนที่มีการจราจรแออัด เหมือนกับความ อึดอัดของสังคมไทยขณะนี้ที่ไม่ต้องการเห็นเสื้อ "เหลือง-แดง" เผ่นพ่านบนถนนปิดการจราจรแทนสัญญาณไฟ หากปล่อยแค่สัญญาณ "เหลือง-แดง"แบบนี้ชาติจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ใครที่ผ่านไปมาแถวๆ ริมทางด่วน บางนา (สุขุมวิท 62 ) ข้างๆกับตึกของ "ประกิต โฮลดิ้งส์" คงจะเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างๆตึก เป็นรูปสัญญาณไฟ "เหลือง-แดง" เขียนข้อความ "ชาตินี้ไม่ต้องไปไหน" และ "เพื่อพ่อให้ชาติไปต่อเถอะครับ"  ทุกๆปี บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จะนำป้ายโฆษณาที่มีไว้สำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์สังคมใน โอกาสต่างๆ มาโชว์และที่ฮือฮาจนกลายเป็นที่รับรู้ของสังคม และป้ายนี่ถือว่าทรงพลังไม่น้อยที่ทำให้คนได้ฉุกคิดและหยุดดูนำไปคิดต่อ  โดย "กิ่งรัก  อิงคะวัต" ครีเอทีฟ บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ ทีมงานที่สร้างสรรค์ป้ายนี้ บอกว่า ทุกปีจะคิดแคมเปญส่งเสริมสังคมเช่นเรื่องรณรงค์เมาไม่ขับ ลดโลกร้อน และหลากหลายที่ส่งเสริมสังคม เช่นเดียวกับป้ายนี้ที่ต้องการติดในช่วงเดือนธันวาคม จึงได้นำแนวคิดเรื่องความจงรักภักดีในโอกาสวันพ่อ 5 ธันวาคม ขณะเดียวกันเห็นสังคมแตกแยกกันมาก อยากเป็นส่วนสะท้อนทางสังคมเพื่อให้คนฉุกคิดว่า จะทำให้บ้านเมืองสงบ จึงนำมาเปรียบเทียบกับสัญญาณไฟจราจร เป็นการใช้สภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ ได้รับการตอบรับมาก คนชอบมาก ที่มาของป้ายนี้เกิดจากการประกวดกันภายในแล้วคัดเลือกมาซึ่งป้ายนี้เป็น ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด การผลิตไม่แพงมากน่าจะมีคนสนใจ พลังใจการหยุดสูงสุด  ตอนกลางคืนจะติดไฟจริงจะเห็นสัญญาณไฟชัดเจนเป็นสี "เหลือง แดง" ผู้สร้างป้ายนี้ขึ้นมาคงหวังว่าจะทำให้คนฉุกคิดได้ว่าหากสังคมมีแต่สี เหลืองกับสีแดงประเทศชาติก็เปรียบเหมือนกับรถที่ไม่มีวันได้ไปไหน ต้องหยุดอยู่กับที่ หากต้องการให้ประเทศชาติก้าวเดินต่อไป ทุกคนต้องช่วยกันสร้างไฟเขียวให้เกิดขึ้น ขอย้ำว่า"ไฟเขียว"ไม่ใช่"สีเขียว"

   จะเห็นได้ว่าแผ่นป้ายโฆษณาต่างๆนั้นมีอิทธิพลและบทบาทต่อสังคมเป็นอย่างมาก เช่น ป้ายโฆษณาการสร้างสรรค์สังคมนั้นก็อาจจะมีผลทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้ฉุกคิด และตระหนักถึงเรื่องต่างๆได้มากยิ่งขึ้น ป้ายโฆษณาการท่องเที่ยวก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนป้ายโฆษณาเชิงธุรกิจนั้น นอกจากจะช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการแล้ว ก็ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับบริษัท นอกจากนั้นก็มีป้ายโฆษณาอีกมากมายที่ถูกจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเราเองซึ่งเป็นผู้บริโภคสื่อ เราต้องมีวิจารณญาณในการรับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบไหน ถ้าเรารู้จักเลือกรับสื่อ ไม่ปักใจเชื่อโดยไม่ใช้วิจารณญาณ เราก็จะได้รับประโยชน์จากสื่อนั้นๆมากที่สุด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น