“ I'm trying to change the society,starting with my magazine,with my readers. ” Wongthanong Chainarongsingha , NATION JUNIOR March 15-31,2002
หยิบยกมาจากหนังสือ a day story ของคุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ซึ่งถ้าหากกล่าวถึง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ แล้ว หลายๆคนก็คงจะคุ้นหู ในชื่อที่เรียกกันจนติดปากว่า พี่โหน่ง วงศ์ทะนง ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day นั่นเอง ในส่วนตัวของฉันก็เคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง จนกระทั่งได้ดูเทปสัมมนาย้อนหลังของคุณวงศ์ทะนง ชัยณรงค์สิงห์ ที่ได้รับเชิญมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เมื่อหลายปีก่อน ในวิชา swu จึงทำให้ฉันได้เริ่มต้นรู้จัก พี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และนิตยสาร a day มากยิ่งขึ้น นิตยสาร a day นั้น เป็นนิตยสารคิดมาก แต่อ่านง่าย เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในสังคมไทย เป็นนิตยสารที่เป็นต้นแบบนิตยสารทางเลือกของวัยรุ่น ซึ่งจัดได้ว่าเป็น “positive thinking magazine” จนวงการนิตยสารไทยยกให้เป็นนิตยสาร “ขวัญใจเด็กแนว”
จากการได้ดูเทปสัมมนาย้อนหลังของพี่โหน่งในวันนั้น ฉันก็กลับไปซื้อนิตยสาร a day จำไม่ได้ว่าเป็นฉบับที่เท่าไหร่ แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันซื้อนิตยสาร a day จากที่แต่ก่อนฉันไม่ค่อยได้ซื้อนิตยสารมาอ่านมากเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะหยิบยืมอ่านจากเพื่อนๆ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ฉันชอบอ่านหนังสือประเภทเรื่องสั้น วรรณกรรม มากกว่า แต่ในเริ่มแรกด้วยความประทับใจในตัวของพี่โหน่ง ฉันจึงเริ่มที่จะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอย่างจริงจัง ฉันใช้เวลาไม่นานในการอ่าน a day ในแต่ละเล่ม a day เป็นนิตยสารเล่มเดียวที่ฉันรู้สึกว่าอ่านได้ทุกหน้า แม้กระทั่งหน้าโฆษณา เพราะฉันรู้สึกว่ามันมีอะไรน่าสนใจมากกว่านั้น บ้างก็เป็นกิจกรรมดีๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าเราอ่านข้ามไปก็อาจจะพลาดกิจกรรมดีๆนั้นไปก็ได้ โดยทั่วไปแล้ว สำหรับนิตยสารอื่นๆฉันจะเลือกอ่านแค่คอลัมน์ที่ฉันสนใจ หรือเปิดดูรูปผ่านๆ เพียงไม่กี่ครั้งนิตยสารเล่มนั้นๆก็จะถูกเก็บเข้าชั้นหนังสือไป แต่ a day ไม่ว่าเวลาไหนๆ ฉันก็จะสามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้โดยไม่รู้เบื่อ ถึงแม้จะอ่านคอลัมน์นั้นไปแล้ว แต่ฉันก็สามารถนำขึ้นมาอ่านได้อีก เหมือนเป็นการสร้างความคิดต่อยอดให้กับตัวเอง ในนิตยสารเล่มนี้ประกอบไปด้วยคอลัมน์หลายๆคอลัมน์จากนักเขียนหลายๆคน หรือจากคนทั่วๆไป ก็มีคอลัมน์ที่เปิดให้แสดงความสามารถส่งเรื่องของตนเข้าไปได้ เช่นคอลัมน์ “Think positive/ขอเปลี่ยน” เป็นคอลัมน์ที่เราสามารถส่งไอเดียเจ๋งๆ ที่เราอยากปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือออกแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ก็สามารถส่งเข้าไปได้ โดย a day บอกไว้ว่าความคิดแบบทีเล่นทีจริงของเราอาจจะเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้คนและสังคมก็เป็นได้ ซึ่งฉันเองก็ได้เขียนไว้หลายไอเดีย แต่ก็ยังไม่เคยได้ส่งเข้าไป หรือคอลัมน์ “retweet” ที่หยิบยกเอาประโยคเด็ดหรือถ้อยคำเจ๋งๆทั้งจากคนทั่วๆไป หรือศิลปินดารา ในทวิตเตอร์มาไว้ให้เราได้อ่านและฟอลโลว์ไปได้ คอลัมน์ “ปฐมนิเทศ#5” ซึ่งเขียนโดยพี่โหน่ง วงศ์ทะนง ก็จะเป็นข้อความดีๆหรือบทความสอดแทรกแนวคิด และที่ขาดไม่ได้ก็คือ คอลัมน์ “main course” ซึ่งแต่ละเล่มก็จะแตกต่างกันออกไป รวมถึงมีการออกแบบปกแต่ละเล่มให้สอดคล้องกับ main course ของเล่มนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ปกเร แมคโดนัลด์ ก็จะเป็นเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แบ็กแพ็กเกอร์ ปกInspiration เนื้อหาหลักก็จะเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ และที่ฉันชื่นชอบมากที่สุดคือปกจารุนันท์ ทวีปัญญา , ดรัลชรัส ศุขีวิริยะ , อายากะ ฮิชิมูระ เนื้อหาหลักเกี่ยวกับเรื่องเล่าจากคนทะเล ซึ่งโดยส่วนตัวของฉันรักทะเลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และ main course เล่มนี้ ดึงดูดใจฉันด้วยประโยคที่ว่า “เราต่างมีทะเลเป็นของตัวเอง” เมื่อพลิกหน้าต่อๆไปก็จะเป็นเรื่องราว มุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคนที่อยู่ใกล้ทะเล ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าที่ขายของริมหาด เจ้าของร้านเช่าจักรยาน ห่วงยาง เจ้าของเตียงผ้าใบ บาร์เทนเดอร์ บีชบอย เจ้าของเรือยอร์ช นักวิจัย นักอนุรักษ์ ครูสอนดำน้ำ กัปตัน ไต้ก๋ง เป็นต้น หลังจากอ่านแล้วฉันรู้สึกว่าฉันรักทะเลเพิ่มขึ้นอีกไม่รู้กี่พันเท่า ฉันรู้สึกเหมือนได้มองทะเลในมุมมองที่แตกต่างออกไป ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่สามารถสร้างเป็นแรงบันดาลใจที่มีค่าให้กับตัวเราเอง ฉันขอหยิบยกประโยคหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของคุณอมร อินทรเจริญ เจ้าของเรือยอร์ช อ่าวสปัม จังหวัดภูเก็ต ว่า “เมื่ออยู่ในทะเลเราจะรู้สึกว่าเรามีเวลาคุยกับตัวเองมากขึ้น คำถามที่คุณสงสัยมาตลอดชีวิต บางทีอาจจะเจอคำตอบโดยไม่รู้ตัว”
และนี่เป็นเพียงไม่กี่คอลัมน์ที่ฉันหยิบยกขึ้นมา ในจำนวนคอลัมน์กว่า 40 คอลัมน์ ภายใต้เนื้อหาหลัก 3 ส่วนของนิตยสาร a day คือ somebody nostalgia และ idea
หลังจากอ่าน a day ฉันว่าแต่ละคนคงมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป แต่ในส่วนตัวของฉันแล้ว นิตยสาร a day ในทุกๆคอลัมน์ เราสามารถต่อยอดความคิดได้จากเรื่องนั้นๆได้อีก เหมือนเนื้อหา ความรู้ ความคิด ไม่ได้จบลงแค่ในหน้ากระดาษ แต่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริง เหตุการณ์จริงได้ เพียงเรารู้จักที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว อย่าอ่านเพียงเพื่อให้ผ่านไป อ่านเพียงเพื่อความสนุกชั่วครั้งคราว แต่ถ้าเรารู้จักมองให้ลึกกว่านั้น ข้อความในหน้ากระดาษก็จะไม่ใช่เพียงแค่กระดาษธรรมดา แต่นั่นเป็นเหมือนครู เป็นเหมือนแรงบันดาลใจ ให้เราเรียนรู้และเพิ่มพูนความคิดต่อยอด และไม่ว่าจะนานแค่ไหนนิตยสาร a day ก็ยังเป็นนิตยสารที่ฉันสามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้ตลอดเวลา ถึงแม้เล่มนั้นๆจะวางแผงมาแล้วหลายเดือน หรือเป็นปี เนื้อหาในแต่ละเล่มก็สามารถนำมาประยุกษ์ใช้กับชีวิตของเราได้ในทุกๆช่วงวัย ไม่ว่าเราจะเจอเรื่องทุกข์ใจ เจอปัญหาอุปสรรคใดๆก็ตาม นิตยสารเล่มนี้ก็เป็นทางเลือก ให้เราได้เปิดใจเรียนรู้จนเราอาจจะค้นพบคำตอบของปัญหาก็เป็นได้ ฉันเชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านช่วงเหตุการณ์ที่ไม่ดีๆในชีวิต และฉันเองก็เช่นกัน จนฉันพบข้อความหนึ่ง ในคอลัมน์ “hesheit” ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่แตกต่างจากคอลัมน์อื่นๆด้วยกระดาษ และบอกเล่าเรื่องราวด้วยการ์ตูนสอดแทรกเนื้อหา ฉันจำไม่ได้ว่าเป็น a day เล่มที่เท่าไหร่ แต่ที่ฉันจำได้ขึ้นใจก็คือ ภาพการ์ตูนนั้นเป็นเรื่องราวของผู้ชายกับผู้หญิง โดยในแต่ละวันผู้หญิงก็จะเจอเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล ผู้ชายก็ได้บอกกับผู้หญิงว่า “ให้คิดกล่องขึ้นมากล่องหนึ่ง วางไว้ข้างเตียง แล้วเอาไอ้ที่แบกไว้ไปใส่ในกล่องนั้น พรุ่งนี้ว่ากันใหม่..” ข้อความนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันรู้จักคำว่าปล่อยวาง รู้จักเรียบเรียงความคิด และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ประโยคหนึ่งในนิตยสารเล่มโต แต่ถ้าเราอ่าน แล้วตระหนักในเรื่องนั้นๆก็จะเกิดผลดีกับตัวเราเองไม่ใช่น้อย และไม่ใช่แค่เพียงนิตยสารเล่มนี้เท่านั้น แต่รวมถึงนิตยสารเล่มอื่นๆ หนังสือนิยาย วรรณกรรม การ์ตูน หรือแม้กระทั่งหนังสือเรียนก็ตาม ก็จะให้ความรู้ความคิดที่แตกต่างกันออกไป เพียงเราเลือกที่จะเรียนรู้ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆที่มีให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด